วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อับราฮัม ลินคอล์น

                                                   
อับราฮัม ลินคอล์น (อังกฤษAbraham Lincoln "เอบราฮัม ลิงเคิน" [a.bra.ham - linc.oln]) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา
ลินคอล์นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1861 จนกระทั่งเขาถูกลอบสังหารเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 เขาประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศผ่านพ้นสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยรักษาไว้ซึ่งสหภาพ ขณะที่เลิกทาส และส่งเสริมการทำให้เศรษฐกิจและการเงินทันสมัย ลินคอล์นเกิดในครอบครัวยากจนทางชายแดนตะวันตก ส่วนใหญ่ลินคอล์นศึกษาด้วยตนเอง และกลายเป็นทนายความชนบท ผู้นำพรรควิก สมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐอิลลินอยส์ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1830 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาหนึ่งสมัยระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1840 หลังการโต้วาทีใน ค.ศ. 1858 ซึ่งทำให้ประเทศมองเห็นการคัดค้านการขยายอาณาเขตของระบบทาสของเขา ลินคอล์นก็แพ้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแก่คู่แข่งคนสำคัญ สตีเฟน เอ. ดักลาส
ลินคอล์น ผู้เดินสายกลางจาก swing state ได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน โดยแทบไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเลยในทางใต้ ลินคอล์นกวาดเสียงในทางเหนือและได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1860 การเลือกตั้งของเขาเป็นสัญญาณแก่เจ็ดรัฐทาสทางใต้ให้ประกาศการแยกตัวออกจากสหภาพและก่อตั้งสมาพันธรัฐ การแยกตัวออกของชาวใต้ทำให้พรรคของลินคอล์นกุมที่นั่งในรัฐสภาคองเกรสได้อย่างเด็ดขาด แต่ไม่มีสูตรสำหรับการประนีประนอมหรือการปรองดอง ดังนั้นสงครามจึงเกิดตามมา
เมื่อฝ่ายเหนือระดมพลอย่างกระตือรือร้นอยู่ใต้ธงชาติ หลังการโจมตีค่ายซัมเตอร์ของฝ่ายสมาพันธรัฐเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 ลินคอล์นได้มุ่งความสนใจต่อมิติการทหารและการเมืองของความพยายามในการทำสงคราม เป้าหมายของเขาปัจจุบันคือการรวมประเทศ เมื่อทางใต้อยู่ในสถานะก่อการกบฏ ลินคอล์นจึงใช้อำนาจของเขายับยั้งหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลในสถานการณ์นั้น โดยจับกุมและกักขังผู้ต้องสงสัยว่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนหลายพันคนโดยไม่มีการไต่สวน ลินคอล์นขัดขวางการรับรองสมาพันธรัฐของอังกฤษโดยจัดการกับกรณีเรือเทรนต์(Trent affair) อย่างฉลาด ในปลาย ค.ศ. 1861 ความพยายามไปสู่การเลิกทาสของเขารวมถึงการออกการประกาศเลิกทาสใน ค.ศ. 1863 การกระตุ้นให้รัฐชายแดนประกาศให้ความเป็นทาสผิดกฎหมาย และการช่วยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาครั้งที่สิบสามผ่านรัฐสภาคองเกรส ซึ่งปล่อยทาสผิวดำทั่วประเทศเป็นอิสระในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1865 ในที่สุด ลินคอล์นดูแลความพยายามของสงครามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกนายพลระดับสูง รวมทั้งนายพลสั่งการ ยูลิสซิส เอส. แกรนท์ ลินคอล์นนำตัวผู้นำกลุ่มแยกหลายกลุ่มในพรรคเข้าสู่คณะรัฐมนตรีและกดดันให้พวกเขาร่วมมือ ภายใต้การนำของลินคอล์น ฝ่ายสหภาพจัดตั้งการปิดล้อมทางทะเลซึ่งปิดการค้าขายตามปกติของฝ่ายใต้ ควบคุมรัฐทาสชายแดนในช่วงต้นของสงคราม เข้าควบคุมการสื่อสารกับเรือปืนบนระบบแม่น้ำทางใต้ และพยายามยึดเมืองหลวงของสมาพันธรัฐที่ริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย หลายครั้ง แต่ละครั้งที่นายพลคนหนึ่งล้มเหลว ลินคอล์นจะเปลี่ยนคนใหม่กระทั่งท้ายที่สุด แกรนท์ประสบความสำเร็จใน ค.ศ. 1865
ลินคอล์นเป็นนักการเมืองที่ฉลาดหลักแหลมเป็นพิเศษซึ่งเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับประเด็นอำนาจในแต่ละรัฐ เขาพยายามชักจูงสมาชิกพรรคเดโมแครตสายสงคราม และจัดการเลือกตั้งใหม่ของเขาเองในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1864 ในฐานะผู้นำฝ่ายแยกสายกลางของพรรครีพับลิกัน ลินคอล์นพบว่า นโยบายและบุคลิกภาพของเขา "ถูกโจมตีจากรอบด้าน" สมาชิกพรรครีพับลิกันหัวรุนแรงต้องการให้ปฏิบัติต่อทางใต้รุนแรงขึ้น สมาชิกพรรคเดโมแครตสายสงครามต้องการให้ประนีประนอมมากกว่านี้ กลุ่ม Copperhead เหยียดหยามเขา และผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนที่ปรองดองไม่ได้นั้นวางแผนสังหารเขา ในทางการเมือง ลินคอล์นสู้กลับด้วยระบบอุปถัมภ์ โดยให้คู่แข่งของเขาสู้กันเอง และโดยการวิงวอนต่ออเมริกันชนด้วยพลังวาทศิลป์[2] สุนทรพจน์ที่เก็ตตีสเบิร์กของเขาใน ค.ศ. 1863 เป็นสุนทรพจน์ที่มีการยกคำพูดไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา[3] มันเป็นถ้อยแถลงสัญลักษณ์ของการอุทิศแก่หลักการชาตินิยม สาธารณรัฐนิยม สิทธิเท่าเทียม เสรีภาพและประชาธิปไตยของอเมริกา ปลายสงคราม ลินคอล์นถือมุมมองการฟื้นฟูบูรณะ (Reconstruction) สายกลาง โดยแสวงการรวมประเทศอย่างรวดเร็วผ่านนโยบายการปรองดองอย่างเอื้อเฟื้อในการเผชิญกับความชักช้าและความแตกแยกอย่างขมขื่น อย่างไรก็ดี หกวันหลังการยอมจำนนของโรเบิร์ต อี. ลี ผู้บัญชาการสั่งการของฝ่ายสมาพันธรัฐ ลินคอล์นถูกลอบสังหารโดยนักแสดงและผู้ฝักใฝ่สมาพันธรัฐ จอห์น วิลค์ส บูธ การลอบสังหารลินคอล์นเป็นการลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งแรกและทำให้ทั้งประเทศโศกเศร้า นักวิชาการและสาธารณะจัดลินคอล์นเป็นหนึ่งในสามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างต่อเนื่อง

ทอมัส เอดิสัน

                                              Thomas Edison2.jpg
ทอมัส แอลวา เอดิสัน (อังกฤษThomas Alva Edison) เป็นนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย ได้ฉายา "พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก" เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มนำหลักการของ การผลิตจำนวนมาก และ กระบวนการประดิษฐ์ มาประยุกต์รวมกัน
ทอมัส เอดิสัน มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้คิดค้นหลอดไฟ แต่ในความเป็นจริงเขาเป็นบุคคลแรกที่จดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์หลอดไฟจากนักวิทยาศาสตร์กว่า 20 คนที่คิดค้นหลอดไฟ และสามารถนำมาทำเป็นธุรกิจได้ เอดิสันยังคงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของโลก และก่อตั้งอีกหลายบริษัทในด้านไฟฟ้า หนึ่งในบริษัทของเอดิสันยังเป็นผู้คิดค้นเก้าอี้ไฟฟ้าสำหรับประหารชีวิตนักโทษอีกด้วย
เอดิสันยังคงเป็นบุคคลสำคัญในสงครามกระแสไฟฟ้า (War of Currents) โดยเอดิสันพยายามผลักดันระบบไฟฟ้ากระแสตรงของบริษัท แข่งกับระบบไฟฟ้ากระแสสลับของจอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse) โดยพนักงานในบริษัทของเขาได้โฆษณาชวนเชื่อความอันตรายของไฟฟ้ากระแสสลับโดยการฆ่าหมาแมวเป็นจำนวนหลายตัว

ประวัติด้านอื่น

ค.ศ. 1863 เอดิสันเข้าเป็นพนักงานส่งโทรเลข เขาเปลี่ยนบริษัทบ่อยมาก ในปีเดียว เขาเปลี่ยนบริษัททำงานถึง 4 ครั้ง ตามสถานที่ต่าง ๆ ในอเมริกาและแคนาดา
ค.ศ. 1864 เขาประดิษฐ์เครื่องบันทึกการนับคะแนน และยื่นขอจดสิทธิบัตร แต่เครื่องนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน
ค.ศ. 1869 เขาเดินทางไปยังนิวยอร์ก และเปิดบริษัทวิศวกรไฟฟ้าขึ้น บริษัทนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง
ค.ศ. 1871 สร้างอาคารซึ่งเปิดเป็นโรงงานและศูนย์วิจัยในตัวขึ้นและในปีนั้น เขาพบรักและแต่งงานกับ แมรี สติลเวลล์ (Mary Stilwell) ผู้มีอายุน้อยกว่าเอดิสันถึง 8 ปี และ ในปีนั้น แนนซีผู้เป็นมารดาของเอดิสัน เสียชีวิตลงในวัย 61 ปี
ค.ศ. 1876 สร้างอาคารโรงงานและศูนย์วิจัยใหม่ที่เมนโลพาร์ก (Menlo Park) รัฐนิวเจอร์ซีย์ และเริ่มลงมือประดิษฐ์โทรศัพท์ แต่ (อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์)(North Alexander Graham Bell) คิดค้นขึ้นได้ก่อน
ค.ศ. 1877 เอดิสันประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงขึ้น และฉายา พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก ก็ได้มาจากการที่เขาประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงนี้
ค.ศ. 1878 เอดิสันเริ่มศึกษาค้นคว้าคิดจะทำหลอดไฟ เพราะไฟส่องสว่างในสมัยนั้นสามารถก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย
ค.ศ. 1879 ประดิษฐ์หลอดไฟไส้คาร์บอนสำเร็จ และเริ่มออกแบบสวิตช์เปิด-ปิดหลอดไฟให้ติดตั้งในบ้านเรือนได้ง่าย นับเป็นจุดเริ่มต้นของหลอดไฟบนโลกใบนี้
ค.ศ. 1880 เปลี่ยนไส้หลอดไฟจากคาร์บอนเป็นไม่ไผ่ญี่ปุ่น เพราะหลอดคาร์บอน ส่องสว่างได้นาน 40 ชั่วโมง แต่หลอดไม้ไผ่ญี่ปุ่น ส่องสว่างได้นานถึง 900 ชั่วโมง
ค.ศ. 1882 สร้างโรงจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นที่นิวยอร์ก และเริ่มประกาศเทคโนโลยีหลอดไฟให้เป็นที่รู้จัก
ค.ศ. 1883 เขาประดิษฐ์หลอดไฟรุ่นใหม่ที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไปได้ ทำให้หลอดไฟแพร่กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ของโลกเร็วขึ้น
ค.ศ. 1884 แมรี ภรรยาของเขาเสียชีวิตลงด้วยโรคไทฟอยด์ในวัย 29 ปี
ค.ศ. 1886 เอดิสันแต่งงานใหม่กับมินา มิลเลอร์ (Mina Miller) ผู้มีอายุน้อยกว่าเอดิสันถึง 19 ปี
ค.ศ. 1891 ประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพตัดต่อสำเร็จ บันทึกภาพเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์
ค.ศ. 1893 สร้างโรงถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกของโลก
ค.ศ. 1894 ภาพเคลื่อนไหวเรื่องแรกของโลกถูกสร้างขึ้น มีชื่อว่า "บันทึกการจาม" แต่ยังไม่มีเสียง
ค.ศ. 1896 บิดาของเอดิสันเสียชีวิตลงในวัย 92 ปี และในปีนั้น เอดิสันรู้จักกับ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนซี้กัน
ค.ศ. 1898 เริ่มประดิษฐ์แบตเตอรี่ และประดิษฐ์สำเร็จใน ค.ศ. 1909ใช้เวลานานถึง 11 ปี
ค.ศ. 1912 เกิดการใช้เครื่องถ่ายภาพตัดต่อและเครื่องบันทึกเสียงพร้อมกัน ทำให้เกิดเป็น "ภาพยนตร์" ที่มีทั้งภาพและเสียง
หลังจากนั้น เขาถูกนักข่าวรุมถามเสมอว่า เอดิสันคิดอย่างไรกับการที่คนทั่วไปเรียกเขาว่าอัจฉริยะ เขาตอบว่า คำว่าอัจฉริยะในความคิดของผม ประกอบด้วยพรสวรรค์เพียง 1% ส่วนอีก 99% มาจากความพยายาม
หลังจากนั้น เอดิสันใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน และเสียชีวิตในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1931 ด้วยโรคเบาหวาน และไตวาย[9] ในขณะที่เขามีอายุ 84 ปี ที่เวสต์ออเรนจ์ (West Orange) รัฐนิวเจอร์ซีย์

ผลงาน

เอดิสัน นั้นกล่าวได้ว่าเป็นนักประดิษฐ์ที่มีผลงานมากที่สุดในยุคนั้น เขามีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ภายใต้ชื่อของเขาเป็นจำนวนถึง 1,093 ชิ้น สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นมาเอง แต่เป็นการพัฒนาจากสิ่งประดิษฐ์ดั้งเดิมที่คิดค้นขึ้นโดยลูกจ้างของเขา เพราะเหตุนี้ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ ในเรื่องการอ้างผลงานเป็นของตัวแต่ผู้เดียว โดยไม่แบ่งปันให้กับผู้คิดค้นดั้งเดิม นอกจากสิทธิบัตรของเขาซึ่งมีอยู่ทั่วโลกแล้ว เอดิสันก็ยังได้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อ Edison Trust
ในความเป็นจริงแล้ว เอดิสันไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าตามที่คนทั่วไปเข้าใจแต่อย่างใด หลักการของหลอดไฟฟ้าถูกพัฒนามาก่อนหน้านี้โดยนักประดิษฐ์หลายท่าน เช่น จูเซ็ปป์ สวอน (Juseph Swan) หรือ ไฮน์ริช เกอเบิล (Heinrich Goebel) อย่างไรก็ตามเอดิสันได้คำนึงถึงการนำหลอดไฟฟ้าไปใช้งานจริงในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง โดยเอดิสันได้ทำให้อายุการใช้งานของหลอดไฟฟ้ายาวนานพอที่จะนำไปใช้ได้อย่างสะดวกสบายในบ้านเรือนหรือร้านค้า นอกจากนั้นเอดิสันยังได้สร้างระบบผลิตและแจกจ่ายไฟฟ้าอีกด้วย

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

                                                  Christopher Columbus.PNG
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (อังกฤษChristopher Columbus), กริสโตบัล โกลอน (สเปนCristóbal Colón), คริสโตโฟรุส โกลุมบุส (ละติน:CHRISTOPHORUS COLUMBUS) หรือ กริสตอโฟโร โกลอมโบ (อิตาลีCristoforo Colombo; เกิด ค.ศ. 1451 เสียชีวิตวันที่ 20 พฤษภาคมค.ศ. 1506) เป็นนักทำแผนที่ นักสำรวจ นักเดินเรือ และพ่อค้า เชื่อกันว่าน่าจะเป็นชาวสาธารณรัฐเจนัว[2][3][4][5] ภายใต้การสนับสนุนของราชสำนักสเปน เขาได้เดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและทำให้ชาวยุโรปรู้จักทวีปอเมริกาในซีกโลกตะวันตกเป็นผลสำเร็จ การเดินทางทั้งสี่ครั้งและความพยายามที่จะตั้งถิ่นฐานบนเกาะฮิสปันโยลาของโคลัมบัสยังเป็นจุดเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมของสเปนและชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ในทวีปยุโรปบน "โลกใหม่" อีกด้วย
ในช่วงที่ลัทธิจักรวรรดินิยมและการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างอาณาจักรต่าง ๆ ในยุโรป (ผ่านทางการควบคุมเส้นทางการค้าและการล่าอาณานิคม) กำลังเริ่มขึ้นนั้น โคลัมบัสได้วางแผนการเดินทางไปยังอินเดียตะวันออกโดยเดินเรือมุ่งไปทางตะวันตก ด้วยเขามีความเชื่อว่าโลกมีรูปร่างเป็นทรงกลม ความเชื่อนี้ขัดแย้งกับแนวความเชื่อในยุคนั้นว่าโลกนั้นมีรูปทรงแบน แต่ปัญหาสำคัญที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง คือ ความเป็นไปได้ของการเดินทางรอบโลก เนื่องมาจากอุปสรรคเรื่องของอาหารและข้อจำกัดทางเทคโนโลยีการเดินเรือในสมัยนั้น เช่น การเดินเรือไปติดในบริเวณที่ไม่มีลมพัด เป็นต้น
โคลัมบัสนำโครงการเดินเรือดังกล่าวไปเสนอต่อราชสำนักโปรตุเกสเพื่อขอทุนทรัพย์ในการแต่งกองเรือออกไปค้นหาความมั่งคั่งยังดินแดนไกลโพ้น แต่ถูกปฏิเสธ เขาจึงไปขอรับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 5 และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 แห่งอาณาจักรคาสตีล และได้รับการอนุมัติให้ออกเดินทางเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1492 แต่แทนที่โคลัมบัสจะไปถึงหมู่เกาะญี่ปุ่นอย่างที่ได้ตั้งใจไว้ เขากลับไปพบหมู่เกาะบาฮามาสและขึ้นฝั่งบนเกาะแห่งหนึ่งที่เขาตั้งชื่อว่า "ซานซัลบาดอร์" เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปีเดียวกัน ในการเดินทางอีกสามครั้งถัดมา เขาได้ค้นพบหมู่เกาะเกรตเตอร์แอนทิลลีส เลสเซอร์แอนทิลลีส รวมทั้งชายฝั่งทะเลแคริบเบียนของเวเนซุเอลาและอเมริกากลาง และประกาศให้ดินแดนเหล่านั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจักรวรรดิสเปน
แม้ว่าโคลัมบัสนั้นไม่ได้เป็นบุคคลแรกที่เดินทางมาถึงทวีปอเมริกา (เนื่องจากเลฟ เอริกสัน และกองเรือชาวนอร์สได้มาถึงทวีปนี้ก่อนแล้ว)[6] แต่การเดินทางของโคลัมบัสก็ทำให้เกิดการติดต่ออย่างถาวรและต่อเนื่องระหว่างโลกใหม่ (ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก) กับโลกเก่า (ฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแอตแลนติก) นำไปสู่ช่วงเวลาของการสำรวจและการล่าอาณานิคมในดินแดนภายนอกทวีปยุโรปที่ดำเนินผ่านเวลาหลายศตวรรษและส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตกสมัยใหม่
โคลัมบัสเรียกชนพื้นเมืองบนดินแดนที่เขาไปเยือนว่า "อินดิโอส" (เป็นคำภาษาสเปนแปลว่าชาวอินเดีย)[7][8][9] โดยไม่ทราบว่าเขาได้ค้นพบทวีปที่ชาวยุโรปไม่เคยรู้จักมาก่อนแล้วโดยบังเอิญ ไม่กี่ปีต่อมา ความขัดแย้งระหว่างโคลัมบัสกับราชบัลลังก์สเปนและผู้ปกครองอาณานิคมคนอื่น ๆ ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บริหารอาณานิคมบนเกาะฮิสปันโยลาในปี ค.ศ. 1500 และถูกส่งตัวกลับมายังสเปน ทายาทของเขาใช้เวลาฟ้องร้องราชบัลลังก์สเปนอยู่เป็นเวลาหลายสิบปีหลังจากเขาเสียชีวิต กว่าจะได้รับส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ในดินแดนต่าง ๆ ที่เขาเคยไปสำรวจ

ลุดวิจ ฟาน เบโทเฟน

                                               
ลุดวิจ ฟัน เบทโฮเฟินเกิดที่เมืองบอนน์ (ประเทศเยอรมนี) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1770 และได้เข้าพิธีศีลจุ่มในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1770 เป็นลูกชายคนรองของโยฮันน์ ฟัน เบทโฮเฟิน (Johann van Beethoven) กับ มาเรีย มักเดเลนา เคเวริค (Maria Magdelena Keverich) ขณะที่เกิดบิดามีอายุ 30 ปี และมารดามีอายุ 26 ปี ชื่อต้นของเขาเป็นชื่อเดียวกับปู่ และพี่ชายที่ชื่อลุดวิจเหมือนกัน แต่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ครอบครัวของเขามีเชื้อสายเฟลมิช (จากเมืองเมเชเลนในประเทศเบลเยียม) ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าเหตุใด นามสกุลของเขาจึงขึ้นต้นด้วย ฟาน ไม่ใช่ ฟอน ตามที่หลายคนเข้าใจ
บิดาเป็นนักนักร้องในคณะดนตรีประจำราชสำนัก และเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ ซ้ำยังติดสุรา รายได้เกินครึ่งหนึ่งของครอบครัวถูกบิดาของเขาใช้เป็นค่าสุรา ทำให้ครอบครัวยากจนขัดสน บิดาของเขาหวังจะให้เบทโฮเฟินได้กลายเป็นนักดนตรีอัจฉริยะอย่าง โมสาร์ท นักดนตรีอีกคนที่โด่งดังในช่วงยุคที่เบทโฮเฟินยังเด็ก จึงเริ่มสอนดนตรีให้ใน ค.ศ. 1776 ขณะที่เบทโฮเฟินอายุ 5 ขวบ
แต่ด้วยความหวังที่ตั้งไว้สูงเกินไป (ก่อนหน้าเบทโฮเฟินเกิด โมสาร์ทสามารถเล่นดนตรีหาเงินให้ครอบครัวได้ตั้งแต่อายุ 6 ปี บิดาของเบทโฮเฟินตั้งความหวังไว้ให้เบทโฮเฟินเล่นดนตรีหาเงินภายในอายุ 6 ปีให้ได้เหมือนโมสาร์ท) ประกอบกับเป็นคนขาดความรับผิดชอบเป็นทุนเดิม ทำให้การสอนดนตรีของบิดานั้นเข้มงวด โหดร้ายทารุณ เช่น ขังเบทโฮเฟินไว้ในห้องกับเปียโน 1 หลัง , สั่งห้ามไม่ให้เบทโฮเฟินเล่นกับน้อง ๆ เป็นต้น ทำให้เบทโฮเฟินเคยท้อแท้กับเรื่องดนตรี แต่เมื่อได้เห็นสุขภาพมารดาที่เริ่มกระเสาะกระแสะด้วยวัณโรค ก็เกิดความพยายามสู้เรียนดนตรีต่อไป เพื่อหาเงินมาสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว
ค.ศ. 1777 เบทโฮเฟินเข้าเรียนโรงเรียนสอนภาษาละตินสำหรับประชาชนที่เมืองบอนน์
ค.ศ. 1778 การฝึกซ้อมมานานสองปีเริ่มสัมฤทธิ์ผล บีโธเฟินสามารถเปิดคอนเสิร์ตเปียโนในที่สาธารณะได้เป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ขณะอายุ 7 ปี 3 เดือน ที่เมืองโคโลญจน์ (Cologne) แต่บิดาของเบทโฮเฟินโกหกประชาชนว่าเบทโฮเฟินอายุ 6 ปี เพราะหากอายุยิ่งน้อย ประชาชนจะยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น ในฐานะนักดนตรีที่เก่งตั้งแต่เด็ก
หลังจากนั้น เบทโฮเฟินเรียนไวโอลินและออร์แกนกับอาจารย์หลายคน จนใน ค.ศ. 1781 เบทโฮเฟินได้เป็นศิษย์ของคริสเตียน กอตท์โลบ นีเฟ (Christian Gottlob Neefe) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สร้างความสามารถในชีวิตให้เขามากที่สุด นีเฟสอนเบทโฮเฟินในเรื่องเปียโนและการแต่งเพลง
ค.ศ. 1784 เบทโฮเฟินได้เล่นออร์แกนในคณะดนตรีประจำราชสำนัก ในตำแหน่งนักออร์แกนที่สอง มีค่าตอบแทนให้พอสมควร แต่เงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ ก็หมดไปกับค่าสุราของบิดาเช่นเคย
ค.ศ. 1787 เบทโฮเฟินเดินทางไปยังเมืองเวียนนา(Vienna) เพื่อศึกษาดนตรีต่อ เขาได้พบโมซาร์ท และมีโอกาสเล่นเปียโนให้โมซาร์ทฟัง เมื่อโมสาร์ทได้ฟังฝีมือของเบทโฮเฟินแล้ว กล่าวกับเพื่อนว่าเบโเฟนจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีต่อไป แต่อยู่เมืองนี้ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ได้รับข่าวว่าอาการวัณโรคของมารดากำเริบหนัก จึงต้องรีบเดินทางกลับบอนน์ หลังจากกลับมาถึงบอนน์และดูแลมารดาได้ไม่นาน มารดาของเขาก็เสียชีวิตลงในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1787 ด้วยวัย 43 ปี เบทโฮเฟินเศร้าโศกซึมเซาอย่างรุนแรง ในขณะที่บิดาของเขาก็เสียใจไม่แพ้กัน แต่การเสียใจของบิดานั้น ทำให้บิดาของเขาดื่มสุราหนักขึ้น ไร้สติ จนในที่สุดก็ถูกไล่ออกจากคณะดนตรีประจำราชสำนัก เบทโฮเฟินในวัย 16 ปีเศษ ต้องรับบทเลี้ยงดูบิดาและน้องชายอีก 2 คน
ค.ศ. 1788 เบทโฮเฟินเริ่มสอนเปียโนให้กับคนในตระกูลบรอยนิงค์ เพื่อหาเงินให้ครอบครัว
ค.ศ. 1789 เบทโฮเฟินเข้าเป็นนักศึกษาไม่คิดหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยบอนน์
ค.ศ. 1792 เบทโฮเฟินตั้งรกรากที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เบทโฮเฟินมีโอกาสศึกษาดนตรีกับโจเซฟ ไฮเดิน หลังจากเขาเดินทางมาเวียนนาได้ 1 เดือน ก็ได้รับข่าวว่าบิดาป่วยหนักใกล้จะเสียชีวิต (มาเวียนนาครั้งก่อน อยู่ได้ครึ่งเดือนมารดาป่วยหนัก มาเวียนนาครั้งนี้ได้หนึ่งเดือนบิดาป่วยหนัก) แต่ครั้งนี้เขาตัดสินใจไม่กลับบอนน์ แบ่งหน้าที่ในบอนน์ให้น้องทั้งสองคอยดูแล และในปีนั้นเองบิดาของเบทโฮเฟินก็สิ้นใจลงโดยไม่มีเบทโฮเฟินกลับไปดูใจ แต่เบทโฮเฟินเองก็ประสบความสำเร็จในการแสดงคอนเสิร์ตในฐานะนักเปียโนเอก และเป็นผู้ที่สามารถเล่นได้โดยคิดทำนองขึ้นมาสด ๆ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงและครอบครัวขุนนาง
ค.ศ. 1795 เขาเปิดการแสดงดนตรีในโรงละครสาธารณะในเวียนนา และแสดงต่อหน้าประชาชน ทำให้เบทโฮเฟินเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น
ค.ศ. 1796 ระบบการได้ยินของเบทโฮเฟินเริ่มมีปัญหา เขาเริ่มไม่ได้ยินเสียงในสถานที่กว้าง ๆ และเสียงกระซิบของผู้คน เขาตัดสินใจปิดเรื่องหูตึงนี้เอาไว้ เพราะในสังคมยุคนั้น ผู้ที่ร่างกายมีปัญหา(พิการ) จะถูกกลั่นแกล้ง เหยียดหยาม จนในที่สุดผู้พิการหลายคนกลายเป็นขอทาน ดังนั้น เขาต้องประสบความสำเร็จให้ได้เสียก่อนจึงจะเปิดเผยเรื่องนี้ จากนั้นเขาก็เริ่มประพันธ์บทเพลงขึ้นมา แล้วจึงหันเหจากนักดนตรีมาเป็นผู้ประพันธ์เพลง เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีแนวแตกต่างไปจากดนตรียุคคลาสสิกคือ ใช้รูปแบบยุคคลาสสิก แต่ใช้เนื้อหาจากจิตใจ ความรู้สึกในการประพันธ์เพลง จึงทำให้ผลงานเป็นตัวของตัวเอง เนื้อหาของเพลงเต็มไปด้วยการแสดงออกของอารมณ์อย่างเด่นชัด
ค.ศ. 1801 เบทโฮเฟินเปิดเผยเรื่องปัญหาในระบบการได้ยินให้ผู้อื่นฟังเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้สังคมยอมรับ ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องปกปิดเรื่องอาการหูตึงอีก หลังจากนั้น ก็เป็นยุคที่เขาประพันธ์เพลงออกมามากมาย แต่เพลงที่เขาประพันธ์นั้นจะมีปัญหาตรงที่ล้ำสมัยเกินไป ผู้ฟังเพลงไม่เข้าใจในเนื้อหา แต่ในภายหลัง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเข้าใจในเนื้อเพลงของเบทโฮเฟิน บทเพลงหลายเพลงเหล่านั้นก็เป็นที่นิยมล้นหลามมาถึงปัจจุบัน
เมื่อเบทโฮเฟินโด่งดังก็ย่อมมีผู้อิจฉา มีกลุ่มที่พยายามแกล้งเบทโฮเฟินให้ตกต่ำ จนเบทโฮเฟินคิดจะเดินทางไปยังเมืองคาสเซล ทำให้มีกลุ่มผู้ชื่นชมในผลงานของเบทโฮเฟินมาขอร้องไม่ให้เขาไปจากเวียนนา พร้อมทั้งเสนอตัวให้การสนับสนุนการเงิน โดยมีข้อสัญญาว่าเบทโฮเฟินต้องอยู่ในเวียนนา ทำให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างสบาย ๆ และผลิตผลงานตามที่ต้องการโดยไม่ต้องรับคำสั่งจากใคร
เบโทเฟินโด่งดังมากในฐานะคีตกวี อาการสูญเสียการได้ยินมีมากขึ้น แต่เขาพยายามสร้างสรรค์ผลงานจากความสามารถและสภาพที่ตนเป็นอยู่ มีผลงานชั้นยอดเยี่ยมให้กับโลกแห่งเสียงเพลงเป็นจำนวนมาก ผลงานอันโด่งดังในช่วงนี้ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่เบทโฮเฟินถ่ายทอดท่วงทำนองออกมาเป็นจังหวะ สั้น - สั้น - สั้น - ยาว อาการไม่ได้ยินรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่เขาประพันธ์ออกมาเมื่อหูหนวกสนิทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1819 เป็นต้นมา รวมทั้งบทเพลงควอเต็ตเครื่องสายที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาก็ประพันธ์ออกมาในช่วงเวลานี้เช่นกัน
ในช่วงนี้ เบโทเฟินมีอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับหลานชายที่เขารับมาอุปการะ เขาถูกหาว่าเป็นคนบ้า และถูกเด็ก ๆ ขว้างปาด้วยก้อนหินเมื่อเขาออกไปเดินตามท้องถนน แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะของเขาได้ แต่ภายหลังเขาก็ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกับหลานชายเป็นที่เรียบร้อย
ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้ที่เบทโฮเฟินเป็นมานานก็กำเริบหนัก หลังจากรักษาแล้ว ได้เดินทางมาพักฟื้นที่บ้านน้องชายบนที่ราบสูง แต่อารมณ์แปรปรวนก็ทำให้เขาทะเลาะกับน้องชายจนได้ เขาตัดสินใจเดินทางกลับเวียนนาในทันที แต่รถม้าที่นั่งมาไม่มีเก้าอี้และหลังคา เบทโฮเฟินทนหนาวมาตลอดทาง ทำให้เป็นโรคปอดบวม แต่ไม่นานก็รักษาหาย
12 ธันวาคม ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้และตับของเบทโฮเฟินกำเริบหนัก อาการทรุดลงตามลำดับ
26 มีนาคม ค.ศ. 1827 เบทโฮเฟินเสียชีวิตลง พิธีศพของเขาจัดขึ้นอย่างอลังการในโบสถ์เซนต์ ตรินิตี โดยมีผู้มาร่วมงานกว่า 20,000 คน ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานกลางในกรุงเวียนนา

มาร์กาเรต แทตเชอร์

                                                       

มาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ (อังกฤษMargaret Thatcher) หรือยศขุนนางอังกฤษคือ บารอเนสแทตเชอร์ (ชื่อเดิม มาร์กาเรต ฮิลดา โรเบิตส์13 ตุลาคม พ.ศ. 2468 – 8 เมษายน พ.ศ. 2556) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2533 และเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2533 โดยเป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียวจนถึงปัจจุบัน ที่ดำรงทั้งสองตำแหน่งพร้อมกันในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร
บารอนเนสแทตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยของลอร์ดซอลส์เบอรี และอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยของลอร์ดลิเวอร์พูล นายกรัฐมนตรีในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นสตรีคนแรกที่นำพรรคการเมืองเสียงข้างมากของสหราชอาณาจักร และเป็นสตรีคนแรกของเพียงสามคนที่ได้ดำรงหนึ่งในสี่ตำแหน่งสำคัญของประเทศ หลังจากการเกษียณตัวเองจากการเมืองในปีค.ศ. 1992 มาร์กาเรต แทตเชอร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางตลอดชีพเป็น 'บารอนเนสแทตเชอร์แห่งเมืองเคสตีเวน ในมณฑลลิงคอล์นไชร์ ซึ่งทำให้เธอได้มีโอกาสนั่งในสภาขุนนางของสหราชอาณาจักร บารอนเนสแทตเชอร์ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556 ด้วยอาการอุดตันของเส้นเลือดสมอง

ภายหลังการดำรงตำแหน่ง

นางแทตเชอร์ได้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2533 สืบเนื่องจากการต่อสู้ภายในพรรคและการถกเถียงโต้แย้งกับฝ่ายค้านในประเด็นที่แทตเชอร์ไม่ยอมเสียเอกราชในการเข้าเป็นสมาชิกเศรษฐกิจประชาคมยุโรป รวมทั้งการเสื่อมความนิยมจากการไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับนโยบายผู้มีสิทธิ์ออกเสียง (Poll Tax)
หลังจากได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นบารอน แทตเชอร์ได้ตระเวนปาฐกถาไปทั่วโลกในนามของมูลนิธิแทตเชอร์ และได้ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติชื่อ "มาร์กาเรต แทตเชอร์: ชีวิตในดาวนิงสตรีต" (Margaret Thatcher: the Downing Street Years) เมื่อปี พ.ศ. 2536
นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อเช้าวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556 ด้วยอาการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เส้นเลือดตีบ รวมอายุได้ 87 ปี

     นิโคลา เทสลา

      Tesla Sarony.jpg

                                

นิโคลา เทสลา (เซอร์เบียНикола Тесла, Nikola Tesla) เกิดเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2399 - ถึงแก่กรรม 7 มกราคม พ.ศ. 2486 (86 ปี) เป็น นักประดิษฐ์, นักฟิสิกส์, วิศวกรเครื่องกล, วิศวกรไฟฟ้า และ นักทำนายอนาคต เขาเกิดที่ Smiljan ในอดีตออสเตรีย - ฮังการี ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐโครเอเชีย ภายหลังเขาได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน
เทสลามีปัญหาทางประสาทในวัยเด็ก ที่เขาต้องทุกข์ทรมาน จาก โรคย้ำคิดย้ำทำ เขาได้งานแรกในบูดาเปสต์โดยทำงานที่บริษัทโทรศัพท์ เทสล่าได้ประดิษฐ์ลำโพงสำหรับโทรศัพท์ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นี่ ก่อนที่จะเดินทางเร่ร่อนไปอเมริกาในปี 2427 เพื่อที่จะไปทำงานกับ โทมัส เอดิสัน แต่ในไม่นาน เขาก็เริ่มก่อตั้ง ห้องปฏิบัติการ/บริษัท พัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้า ของตัวเองโดยมีผู้สนับสนุนด้านการเงินให้ สิทธิบัตรมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับแบบเหนี่ยวนำ และ หม้อแปลงไฟฟ้า ได้รับการจดทะเบียนโดย จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้เทสลาเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาระบบไฟฟ้ากระแสสลับด้วย
ผลงานของเทสลาที่ทำให้เขาเป็นสนใจในสมัยนั้นอาทิเช่น การทดลองเกี่ยวกับ คลื่นความถี่สูงและแรงดันไฟฟ้าแรงสูง ใน นิวยอร์ก และ โคโลราโด สปริงซ์, สิทธิบัตรของอุปกรณ์และทฤษฎีที่ใช้ในการสร้างวิทยุสื่อสาร, การทดลอง X-ray ของเขา, เขายังเป็นผู้คิดค้นตัวกำเนิดสัญญาน (oscillator) หลากหลายรูปแบบอีกด้วย และ โครงการ Wardenclyffe Tower ซึ่งเป็นความพยายามในการส่งสัญญานไร้สายข้ามทวีปแต่โชคร้ายที่โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
แม้เทสลาจะเป็นผู้คิดค้นสัญญานวิทยุ การค้นพบหลักการสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกันดีคือ การค้นคว้าพัฒนาไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งในขณะนั้นมีการแข่งขันกับไฟฟ้ากระแสตรงที่ถูกพัฒนาขึ้นมา โทมัส เอดิสัน แต่ในที่สุดไฟฟ้ากระแสสลับก็ได้รับความนิยมมากกว่า เพราะเกิดการสูญเสียน้อยกว่าในการส่งกระแสไฟฟ้าในระยะทางไกล
เทสลาประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักและทำให้ผู้คนเห็นถึงความสามารถของจากโชว์สิ่งประดิษฐ์ที่ดูน่าอัศจรรย์ทั้งหลาย ถึงแม้ว่าเขาจะได้เงินจากสิทธิบัตรต่าง ๆ แต่เขาก็ได้ทำการทดลองอย่างมากมายด้วยเช่นกัน ทำให้ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขาต้องเป็นหนี้ และ มีปัญหาด้านการเงิน ต้องอาศัยอยู่อย่างโดษเดี่ยวในห้องพักหมายเลข 3327 ที่โรงแรม New Yorker ด้วยลักษณะและธรรมชาติในการทำงานของเทสลาทำให้เขาถูกขนานนามว่าเป็น "นักวิทยาศาสตร์เพี้ยน"
เทสลาถูกพบว่าเสียชีวิตในห้องพักหมายเลข 3327 ที่โรงแรม New Yorker เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2486
หลังจากการตายของเขางานของเทสล่าก็ได้เงียบหายไป แต่ในปี 2533 เขาก็เริ่มกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง ในปี 2548 เขาถูกเสนอชื่อให้เป็นตัวแทน 1 ใน 100 คนในรายการโทรทัศน์ "The Greatest American" โดยการสำรวจนิยมโดย AOL กับ ช่อง Discovery
การทำงานและสิ่งประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงของเขายังเป็นจุดกำเนิดของทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมาก และ ยังได้นำไปใช้สนับสนุนวิทยาศาสตร์เทียม, ทฤษฎียูเอฟโอ และ ไสยศาสตร์ยุคใหม่ อีกด้วย
ในปี 2503 หน่วยสำหรับวัดความ ความหนาแน่นของเส้นแรงแม่เหล็ก หรือ การเหนี่ยวนำด้วยพลังแม่เหล็ก (ที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นสนามแม่เหล็ก B \), ถูกตั้งชื่อว่า เทสลา เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
นอกจากนี้ เทสลายังถือเป็นวิศวกรที่สร้างนวัตกรรมล้ำยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สิทธิบัตรของเทสลาและผลงานเชิงทฤษฎีของเขากลายเป็นพื้นฐานของระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ได้แก่ ระบบจ่ายกำลังหลายเฟส และมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งเขามีส่วนผลักดันเป็นอย่างมากในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง
                                           
จอร์จ วอชิงตัน
                                                

จอร์จ วอชิงตัน (อังกฤษGeorge Washington22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1732 [วันที่แบบเก่า: 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1731][1][2][3] – 14 ธันวาคม ค.ศ. 1799) เป็นผู้นำทางทหารและการเมืองที่โดดเด่นของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ระหว่าง ค.ศ. 1775 ถึง 1799 เขานำสหรัฐจนได้รับชัยชนะเหนือบริเตนใหญ่ในสงครามปฏิวัติอเมริกัน ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพภาคพื้นทวีปใน ค.ศ.1775-1783 และรับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. 1787 เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1789-1797[4][5][6] วอชิงตันเป็นผู้นำการสร้างรัฐบาลแห่งชาติที่เข้มแข็งและมีการคลังที่ดี ซึ่งวางตนเป็นกลางในสงครามที่ปะทุขึ้นในยุโรป ปราบปรามกบฏและได้รับการยอมรับจากชนอเมริกันทุกประเภท รูปแบบความเป็นผู้นำของเขาได้กลายมาเป็นระเบียบพิธีของรัฐบาลซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมานับแต่นั้น อาทิ การใช้ระบบคณะรัฐมนตรีและการปราศรัยในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ วอชิงตันได้รับการยกย่องทั่วไปว่าเป็น "บิดาแห่งประเทศของเขา" ด้วย[7][8]
ใน ค.ศ. 1775 รัฐสภาอาณานิคมได้แต่งตั้งวอชิงตันเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพปฏิวัติอเมริกัน ปีถัดมา เขานำทัพขับไล่กองทัพอังกฤษออกจากบอสตัน เสียนครนิวยอร์ก ข้ามแม่น้ำเดลาแวร์ในนิวเจอร์ซีย์ และสามารถรบชนะข้าศึกซึ่งยังไม่ทันตั้งตัวในปลายปีเดียวกัน ผลของยุทธศาสตร์ที่เขาใช้ ทำให้กองกำลังปฏิวัติอเมริกันสามารถยึดกำลังรบสำคัญของอังกฤษ 2 แห่งที่ซาราโตกาและยอร์กทาวน์ ด้วยการเจรจากับสภาอาณานิคมทั้งสิบสาม รัฐอาณานิคม และพันธมิตรฝรั่งเศส วอชิงตันได้รวบรวมกองทัพอันไร้ผู้นำและชาติอันอ่อนแอให้เป็นปึกแผ่น ท่ามกลางภยันตรายจากความแตกแยกและความล้มเหลว หลังสงครามยุติในปี ค.ศ. 1783 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ตรัสถามวอชิงตันว่าจะทำอะไรต่อไป และทรงได้รับข่าวลือมาว่าวอชิงตันจะกลับไปยังบ้านไร่ของตนเอง ทำให้มีพระราชกระแสในทันทีว่า "ถ้าเขาทำเช่นนั้น เขาจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก" ซึ่งวอชิงตันก็ได้กลับไปใช้ชีวิตสมถะอย่างชาวไร่จริง ๆ ที่เมานต์เวอร์นอน[9]
อันเนื่องมาจาก "บทบัญญัติว่าด้วยสมาพันธรัฐ" (Articles of Confederation) ที่ร่างขึ้นนั้นไม่เป็นที่พอใจโดยทั่วกัน ใน ค.ศ. 1787 วอชิงตันจึงเป็นประธานการประชุมฟิลาเดเฟียเพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา และใน ค.ศ. 1789 ก็ได้รับเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา โดยเขาได้สถาปนาจารีตและวิถีทางการบริหารหลายประการเกี่ยวแก่องค์กรของรัฐบาลใหม่ ในการนี้ เขาแสวงหาลู่ทางสร้างชาติที่จะสามารถธำรงอยู่ในโลกอันถูกฉีกเป็นชิ้นเพราะสงครามระหว่างอังกฤษฝรั่งเศส วอชิงตันได้มี "ประกาศความเป็นกลาง" (Proclamation of Neutrality of 1793) ใน ค.ศ. 1793 ซึ่งวางรากฐานการงดเว้นไม่เข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งกับต่างชาติ เขายังได้สนับสนุนแผนจัดตั้งรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งโดยวางกองทุนเพื่อหนี้สินของชาติ ส่งผลให้เกิดระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ธนาคารแห่งชาติในที่สุด เนื่องจากวอชิงตันเลี่ยงที่จะไม่ก่อสงครามกับอังกฤษ ทศวรรษแห่งสันติสุขจึงมีขึ้นด้วยสนธิสัญญาเจย์ ค.ศ. 1795 (Jay Treaty of 1795) อันได้รับสัตยาบันไปด้วยดีเพราะเกียรติภูมิส่วนตัวของวอชิงตัน แม้ว่าสนธิสัญญานี้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากโธมัส เจฟเฟอร์สัน ก็ตาม ในทางการเมืองนั้น ถึงแม้ว่าวอชิงตันมิได้เข้าร่วมพรรคสหพันธรัฐนิยม (Federalist Party) อย่างเป็นทางการ แต่เขาก็สนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของพรรค ทั้งยังเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณสำหรับพรรคด้วย เมื่อเขาพ้นจากตำแหน่ง ได้มีสุนทรพจน์แสดงคุณค่าของระบอบสาธารณรัฐ และเตือนให้ระวังความแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความนิยมถิ่น และมิให้ร่วมสงครามกับต่างชาติ[10]
ด้วยผลงานอันอุทิศให้แก่ชาติบ้านเมือง วอชิงตันจึงได้รับ "เครื่องรัฐอิสริยาภรณ์เหรียญทองแห่งรัฐสภาคองเกรส" (Congressional Gold Medal) เป็นบุคคลแรก เขาถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1799 โดย เฮนรี ลี สดุดีวอชิงตันในพิธีศพว่า "ในยามรบ ยามสงบ และในหัวใจของเพื่อนร่วมชาติ เขาคือที่หนึ่งสำหรับอเมริกันชนทั้งปวง