อับราฮัม ลินคอล์น
อับราฮัม ลินคอล์น (อังกฤษ: Abraham Lincoln "เอบราฮัม ลิงเคิน" [a.bra.ham - linc.oln]) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา
ลินคอล์นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1861 จนกระทั่งเขาถูกลอบสังหารเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 เขาประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศผ่านพ้นสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยรักษาไว้ซึ่งสหภาพ ขณะที่เลิกทาส และส่งเสริมการทำให้เศรษฐกิจและการเงินทันสมัย ลินคอล์นเกิดในครอบครัวยากจนทางชายแดนตะวันตก ส่วนใหญ่ลินคอล์นศึกษาด้วยตนเอง และกลายเป็นทนายความชนบท ผู้นำพรรควิก สมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐอิลลินอยส์ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1830 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาหนึ่งสมัยระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1840 หลังการโต้วาทีใน ค.ศ. 1858 ซึ่งทำให้ประเทศมองเห็นการคัดค้านการขยายอาณาเขตของระบบทาสของเขา ลินคอล์นก็แพ้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแก่คู่แข่งคนสำคัญ สตีเฟน เอ. ดักลาส
ลินคอล์น ผู้เดินสายกลางจาก swing state ได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน โดยแทบไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเลยในทางใต้ ลินคอล์นกวาดเสียงในทางเหนือและได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1860 การเลือกตั้งของเขาเป็นสัญญาณแก่เจ็ดรัฐทาสทางใต้ให้ประกาศการแยกตัวออกจากสหภาพและก่อตั้งสมาพันธรัฐ การแยกตัวออกของชาวใต้ทำให้พรรคของลินคอล์นกุมที่นั่งในรัฐสภาคองเกรสได้อย่างเด็ดขาด แต่ไม่มีสูตรสำหรับการประนีประนอมหรือการปรองดอง ดังนั้นสงครามจึงเกิดตามมา
เมื่อฝ่ายเหนือระดมพลอย่างกระตือรือร้นอยู่ใต้ธงชาติ หลังการโจมตีค่ายซัมเตอร์ของฝ่ายสมาพันธรัฐเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 ลินคอล์นได้มุ่งความสนใจต่อมิติการทหารและการเมืองของความพยายามในการทำสงคราม เป้าหมายของเขาปัจจุบันคือการรวมประเทศ เมื่อทางใต้อยู่ในสถานะก่อการกบฏ ลินคอล์นจึงใช้อำนาจของเขายับยั้งหมายสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลในสถานการณ์นั้น โดยจับกุมและกักขังผู้ต้องสงสัยว่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนหลายพันคนโดยไม่มีการไต่สวน ลินคอล์นขัดขวางการรับรองสมาพันธรัฐของอังกฤษโดยจัดการกับกรณีเรือเทรนต์(Trent affair) อย่างฉลาด ในปลาย ค.ศ. 1861 ความพยายามไปสู่การเลิกทาสของเขารวมถึงการออกการประกาศเลิกทาสใน ค.ศ. 1863 การกระตุ้นให้รัฐชายแดนประกาศให้ความเป็นทาสผิดกฎหมาย และการช่วยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาครั้งที่สิบสามผ่านรัฐสภาคองเกรส ซึ่งปล่อยทาสผิวดำทั่วประเทศเป็นอิสระในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1865 ในที่สุด ลินคอล์นดูแลความพยายามของสงครามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกนายพลระดับสูง รวมทั้งนายพลสั่งการ ยูลิสซิส เอส. แกรนท์ ลินคอล์นนำตัวผู้นำกลุ่มแยกหลายกลุ่มในพรรคเข้าสู่คณะรัฐมนตรีและกดดันให้พวกเขาร่วมมือ ภายใต้การนำของลินคอล์น ฝ่ายสหภาพจัดตั้งการปิดล้อมทางทะเลซึ่งปิดการค้าขายตามปกติของฝ่ายใต้ ควบคุมรัฐทาสชายแดนในช่วงต้นของสงคราม เข้าควบคุมการสื่อสารกับเรือปืนบนระบบแม่น้ำทางใต้ และพยายามยึดเมืองหลวงของสมาพันธรัฐที่ริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย หลายครั้ง แต่ละครั้งที่นายพลคนหนึ่งล้มเหลว ลินคอล์นจะเปลี่ยนคนใหม่กระทั่งท้ายที่สุด แกรนท์ประสบความสำเร็จใน ค.ศ. 1865
ลินคอล์นเป็นนักการเมืองที่ฉลาดหลักแหลมเป็นพิเศษซึ่งเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับประเด็นอำนาจในแต่ละรัฐ เขาพยายามชักจูงสมาชิกพรรคเดโมแครตสายสงคราม และจัดการเลือกตั้งใหม่ของเขาเองในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1864 ในฐานะผู้นำฝ่ายแยกสายกลางของพรรครีพับลิกัน ลินคอล์นพบว่า นโยบายและบุคลิกภาพของเขา "ถูกโจมตีจากรอบด้าน" สมาชิกพรรครีพับลิกันหัวรุนแรงต้องการให้ปฏิบัติต่อทางใต้รุนแรงขึ้น สมาชิกพรรคเดโมแครตสายสงครามต้องการให้ประนีประนอมมากกว่านี้ กลุ่ม Copperhead เหยียดหยามเขา และผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนที่ปรองดองไม่ได้นั้นวางแผนสังหารเขา ในทางการเมือง ลินคอล์นสู้กลับด้วยระบบอุปถัมภ์ โดยให้คู่แข่งของเขาสู้กันเอง และโดยการวิงวอนต่ออเมริกันชนด้วยพลังวาทศิลป์[2] สุนทรพจน์ที่เก็ตตีสเบิร์กของเขาใน ค.ศ. 1863 เป็นสุนทรพจน์ที่มีการยกคำพูดไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา[3] มันเป็นถ้อยแถลงสัญลักษณ์ของการอุทิศแก่หลักการชาตินิยม สาธารณรัฐนิยม สิทธิเท่าเทียม เสรีภาพและประชาธิปไตยของอเมริกา ปลายสงคราม ลินคอล์นถือมุมมองการฟื้นฟูบูรณะ (Reconstruction) สายกลาง โดยแสวงการรวมประเทศอย่างรวดเร็วผ่านนโยบายการปรองดองอย่างเอื้อเฟื้อในการเผชิญกับความชักช้าและความแตกแยกอย่างขมขื่น อย่างไรก็ดี หกวันหลังการยอมจำนนของโรเบิร์ต อี. ลี ผู้บัญชาการสั่งการของฝ่ายสมาพันธรัฐ ลินคอล์นถูกลอบสังหารโดยนักแสดงและผู้ฝักใฝ่สมาพันธรัฐ จอห์น วิลค์ส บูธ การลอบสังหารลินคอล์นเป็นการลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งแรกและทำให้ทั้งประเทศโศกเศร้า นักวิชาการและสาธารณะจัดลินคอล์นเป็นหนึ่งในสามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างต่อเนื่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น